วันอาทิตย์ที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2552

การย่อยอาหาร

การย่อยอาหารของมนุษย์
การย่อยอาหารของคน
การย่อยอาหารของคนมีกระบวนการย่อย 2 แบบ คือ
1. การย่อยเชิงกล (Mechanical Digestion) โดยการใช้ฟันบดเคี้ยว และการบตัวคลายตัวของทางเดินอาหาร เช่น หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร เป็นต้น

2. การย่อยทางเคมี (Chemical Digestion) โดยการใช้น้ำย่อย หรือ เอนไซม์ ทำให้อาหารเปลี่ยนแปลงจนเป็น โมเลกุลเดี่ยว ร่างกายสามารถดูดซึมไปใช้ประโยชน์ได้

การย่อยอาหารในปาก
ปาก (Mouth) เป็นทางเดินอาหารเริ่มแรก ซึ่งประกอบด้วยอวัยวะต่างๆทำหน้าที่ร่วมกัน มีทั้งการย่อยเชิงกล (Mechanical Digestion) และการย่อยทางเคมี (Chemical Digestion)การทำงานของอวัยวะภายในปากที่เกี่ยวกับการย่อยอาหาร มีดังต่อไปนี้

ฟัน (Teeth)
ทำหน้าที่บดอาหารให้มีขนาดเล็กลง มี 2 ชุด คือ
1. ฟันน้ำนม (Deciduous Teeth) มี 20 ซี่ เริ่มขึ้นเมื่ออายุประมาณ 6 เดือน จะขึ้นครบเมื่อมีอายุประมาณ 2 ปี
2. ฟันแท้ (Permanent Teeth) มี 32 ซี่ เริ่มขึ้นเมื่อฟันน้ำนมซี่แรกหักและหลุดไป และจะขึ้นครบหรือเกือบครบเมื่ออายุประมาณ 21 ปี แต่บางคนอาจมีเพียง 28 ซี่ เท่านั้น ฟันแท้ประกอบด้วยฟันชนิดต่างๆ ดังนี้ (นับจากกึ่งกลางออกทางด้านข้างของฟันแต่ละข้าง)

2.1 ฟันตัด(Incisor หรือ I) มี 2 ซี่ ทำหน้าที่ตัดอาหาร ในสัตว์ที่กินอาหารโดยการแทะจะมีฟันชนิดนี้เจริญดีที่สุด

2.2 ฟันฉีก หรือ เขี้ยว ( Canine หรือ C ) มี 1 ซี่ ทำหน้าที่กัดและฉีกอาหาร มีลักษณะค่อนข้างแหลมคม ในสัตว์กินเนื้อ เขี้ยวจะเจริญดีที่สุด ไว้สำหรับล่าเหยื่อ ในสัตว์กินพืช เขี้ยวไม่มีหน้าที่สำคัญ

2.3 ฟันกรามหน้า (Premolar หรือ P) มี 2 ซี่ ทำหน้าที่ตัดและฉีกอาหาร ในสัตว์กินเนื้อ เช่น เสือ สุนัข แมว จะมีฟันกรามหน้าเติบโตแข็งแรงเป็นพิเศษ

2.4 ฟันกรามหลัง (Molar หรือ M) มี 3 ซี่ ทำหน้าที่บดเคี้ยวอาหาร ฟันกรามซี่สุดท้ายอาจโผล่ขึ้น มาไม่พ้นเหงือก จึงอาจเหลือแค่ 2 ซี่ ดังนั้นในคนบางคนจึงอาจมีเพียง 28 ซี่ เท่านั้น

โครงสร้างของฟัน แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ
1. ตัวฟัน (Crown) เป็นส่วนของฟันที่โผล่พ้นเหงือกทั้งหมด ผิวด้านนอกเคลือบด้วยสารเคลือบฟัน (Enamel) เป็นสารสีขาว มีความแข็งแรงมากที่สุด ส่วนล่างของสารเคลือบฟันเป็นเนื้อเยื่อเกี่ยวพันหนา ประกอบด้วยหินปูน เรียกว่าเนื้อฟัน (Dentin) ส่วนแกนกลางของตัวฟันมีเนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่อ่อนนุ่ม เรียกว่า โพรงฟัน (Pulp Cavity) ซึ่งภายในประกอบด้วยหลอดเลือดเล็กๆ และปลายประสาท

2. คอฟัน (Neck) เป็นส่วนของฟันที่ฝังอยู่ในเหงือกถัดจากตัวฟันลงไป อยู่บริเวณที่ Enamel กับ Cementum ของรากฟันมาพบกัน

3. รากฟัน (Root) เป็นส่วนของฟันที่อยู่ในช่วงกระดูกขากรรไกรและยึดติดกับกระดูกโดยเนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่แข็งแรง มี Cementum หุ้มอยู่บางๆ ช่วยยึดรากฟัน ตรงกลางรากฟันเป็นช่อง เรียกว่า Root Canal เป็นทางที่เส้นเลือดและเส้นประสาทจะเข้าสู่โพรงฟัน

ต่อมน้ำลาย (Salivary Gland)

ทำหน้าที่สร้างน้ำลาย (Saliva) ส่งออกทางท่อน้ำลายไปสู่ช่องปาก มี 3 คู่

1. ต่อมข้างกกหู (Parotid Gland) อยู่บริเวณกกหูทั้ง 2 ข้าง สร้างน้ำลายชนิดใสเพียงอย่างเดียว มีขนาดใหญ่ที่สุด ถ้าเกิดการอักเสบ บริเวณกกหูทั้ง 2 ข้างจะบวมแดง เรียกว่า โรคคางทูม ต่อมชนิดนี้จะผลิตน้ำลายประมาณ 25% ของน้ำลายทั้งหมด

2. ต่อมใต้ขากรรไกร (Submaxillary Gland) สร้างน้ำลายทั้งชนิดใสและชนิดเหนียว แต่มีน้ำลายทั้งชนิดใสมากกว่า ต่อมชนิดนี้จะผลิตน้ำลายประมาณ 70% ของน้ำลายทั้งหมด

3. ต่อมใต้ลิ้น (Sublingual Gland) สร้างน้ำลายทั้งชนิดใสและชนิดเหนียว แต่มีน้ำลายทั้งชนิดเหนียวมากกว่า ต่อมชนิดนี้จะผลิตน้ำลายประมาณ 5% ของน้ำลายทั้งหมด

น้ำลาย มีลักษณะเป็นของเหลว มี 2 ชนิด คือ

1. ชนิดใส (Serous) มีน้ำย่อยอะไมเลสหรือไทยาลิน (Amylase or Ptyalin) ทำหน้าที่ย่อยแป้งให้เป็น เดกซ์ตริน (Dextrin) ซึ่งเป็นแป้งที่มีโมเลกุลขนาดเล็กลง

2. ชนิดเหนียว (Mucous) ช่วยให้การคลุกเคล้าอาหารผสมกับน้ำย่อยเกิดได้ดี และสะดวกต่อการกลืนอาหาร ส่วนประปอบของน้ำลายมีดังนี้

1. เอนไซม์อะไมเลส (Amylase) ช่วยย่อยสลายคาร์โบไฮเดรต

2. น้ำ (Water) มีประมาณ 99.5% เป็นตัวทำละลายสารอาหาร

3. น้ำเมือก (Mucin) เป็นสารคาร์โบไฮเดรต ผสมโปรตีน ช่วยให้อาหารรวมตัวกันเป็นก้อน ลื่น และกลืนสะดวกน้ำลายจะถูกสร้างจากต่อมน้ำลายประมาณ 1-1.5 ลิตร มีฤทธิ์เป็นกรดอ่อน (pH 6.0-7.0) ทำหน้าที่ละลายอาหาร ป้องกันไม่ให้ปากแห้ง และช่วยในการเคลื่อนไหวของลิ้นในขณะพูด

การย่อยอาหารในกระเพาะอาหาร

มี 2 วิธี ดังนี้

1. การย่อยเชิงกล เมื่อก้อนอาหาร (Bolus) จากหลอดอาหารตกถึงกระเพาะอาหาร กระเพาะอาหารจะมีการเคลื่อนไหวแบบคลื่นคลุกเคล้าอาหาร (Tonic Contraction) เพื่อให้อาหารผสมกับน้ำย่อย และมีการหดตัวของกล้ามเนื้ออย่างแรงมากเป็นช่วงๆ (Peristalsis) เพื่อดันให้อาหารเคลื่อนลงสู่ส่วนล่างของกระเพาะอาหาร

2. การย่อยทางเคมี โดยใช้เอนไซม์ที่สร้างขึ้นจากต่อมในกระเพาะอาหาร

ข้อควรทราบ

- ถ้ามีเชื้อโรคเข้าสู่ลำไส้ใหญ่ จะทำให้ลำไส้ใหญ่ดูดน้ำกลับสู่เลือดไม่ได้ ทำให้เกิดโรคท้องเดิน (Diarrhea)

- ถ้ากากอาหารอยู่ในลำไส้ใหญ่นานเกินไป จะถูกลำไส้ใหญ่ดูดน้ำออกมามาก ทำให้เกิดโรคท้องผูก (Constipation)